ประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา บิดามารดาเป็นชาวนาและค้าขาย ในวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาช้ากว่าเด็กอื่นๆ เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง และบ้านอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนประมาณ 3 กิโลเมตร การไปโรงเรียนต้องข้ามแม่น้ำที่มีน้ำไหลเชี่ยวเพราะโรงเรียนตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง บิดาจึงให้เรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน โดยบิดาสอนหนังสือให้ด้วยตนเอง การเรียนหนังสือที่บ้าน ทำให้ได้รับความรู้ สามารถอ่านหนังสือออก
ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน ที่ตำบลท่าสะอ้าน และได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง โรงเรียนประชาบาลวัดกลางบางปะกงและโรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายนตามลำดับ ตลอดเวลาได้ทำหน้าที่หัวหน้าชั้นเรียนและผู้ช่วยครูมาตลอด
เมื่อจบชั้นมัธยมหกที่โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายนแล้ว จึงสอบเข้าศึกษาต่อสายศิลปะที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบได้สอบภาษาอังกฤษได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของชั้นเรียน เมื่อจบมธัยมแปด สอบได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของโรงเรียนและอันดับสิบเจ็ดของประเทศ
ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลาศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของคณะและเป็นได้รับคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็น co-leader ในการตั้งค่ายอาสาสมัครที่ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการบุกเบิกงานค่ายอาสาสมัครจนกระทั่งกลายเป็นกิจกรรมสำคัญของนักศึกษาทุกสถาบันในปัจจุบัน
หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้เริ่มทำงานที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำที่มีหน้าที่สอนแล้ว ยังทำงานเป็นหัวหน้างานธุรการ เลขานุการคณะ ควบคุมดูแลงานธุรการและงานบริหารของคณะ ต่อมาได้สอบชิงทุนมูลนิธิฟุลไบรท์ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านบริหารการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า และได้รับทุนของมหาวิทยาลัยมินเนโซต้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก หลังจากสำเร็จการศึกษากลับมาประเทศไทยแล้ว ได้กลับมาทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายมธัยมศึกษา ต่อมาเป็นเลขานุการบริหารมหาวิทยาลัย เลขาธิการมหาวิทยาลัย เลขานุการรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ เหล่านี้ ได้มีผลงานที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ด้วยความรู้ ความสามารถและคุณธรรมของผู้นำ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูของครู” คือ มีความรอบรู้ ใฝ่รู้และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของครู
ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูของเด็ก” คือ อบรมสั่งสอนให้วิชาความรู้ด้วยความเมตตากรุณาและสอนให้มีความประพฤติดี
ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูของผู้ปกครอง” คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองเพื่อจะได้ช่วยกันดูแลเด็กให้เจริญเติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไป
การศึกษา
-
- – อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๐๒
- – ครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๐๔
- – M.A. บริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยMinnesota สหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๐๗
- – Ph.D. บริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยMinnesota สหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๑๐
- – ว.ป.อ. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๐
การทำงาน
ตำแหน่งหน้าที่สำคัญ
๑. ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
๒. อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
๓.อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
๔. อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
๕. สมาชิกสภานิติบัญญัตติแห่งชาติ
๖. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๗. สมาชิกวุฒิสภา
๘. นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
๙. นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
๑๐. นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
๑๑. ที่ปรึกษาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา
ประวัติและผลงาน (ไฟล์ .pdf) : [TH VERSION] [EN VERSION]